ชื่อเรื่อง : การลดจำนวนร้านขายของชำที่มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะในเขตอำเภอสอง
ชื่อเจ้าของผลงาน : ภก.เฉลิมพล ลือราช
ชื่อผู้สนับสนุน : ภก.สุรชัย จิตจง
ความสำคัญและที่มาของงานวิจัย
จากข้อมูลการรายงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในปี พ.ศ. 2555 พบว่าประเทศไทยบริโภคยาปฏิชีวนะมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี คนไทยมีการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และเสียชีวิตมากกว่าปีละ 30,000 ราย และยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาเชื้อดื้อยามีราคาแพงมาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย คือ การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม ขาดมาตรการควบคุม แม้แต่ร้านขายของชำในหมู่บ้านก็มียาปฏิชีวนะจำหน่าย ในบริบทของอำเภอสองก็เช่นกัน จากการสำรวจในปี 2556-2557 พบว่ามีร้านขายของชำที่มียาปฏิชีวนะจำหน่ายมากถึง 109 ร้าน จากจำนวนร้านทั้งหมดที่สำรวจ 303 ร้าน ซึ่งคิดเป็นจำนวนหนึ่งในสามของร้านขายของชำทั้งหมดที่ควรได้รับการดำเนินการแก้ไขเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดตามมาจากการขายยาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาจากการเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Event, ADE) ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยาปฏิชีวนะของผู้มารับบริการที่ได้ซื้อมาจากร้านขายของชำในอำเภอสอง ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ถึง กันยายน พ.ศ. 2557 พบว่า เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาส่วนใหญ่ที่พบในประชาชนอำเภอสองคือ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction, ADR) ในลักษณะของการแพ้ยา (Drug allergy) จำนวน 11 รายงาน และอาการข้างเคียง (side effect) จำนวน 1 รายงาน พบการรายงานการแพ้ยามากที่สุดคือยา Tetracycline จำนวน 7 รายงาน ซึ่งอาการที่พบที่รุนแรงคือ ปลายอวัยวะเพศเป็นแผล และอาการผื่นขึ้นตามลาตัวร่วมกับอาการหายใจติดขัด ผื่นลักษณะ Fixed drug eruption รองลงมาคือยากลุ่ม Penicillin พบจำนวน 2 รายงาน อาการแพ้ยาที่รุนแรงที่พบคือ ผื่นขึ้นที่ลาตัว (M.P. rash) ร่วมกับหายใจติดขัด คันตามใบหน้าร่วมกับอาการบวมบริเวณริมฝีปาก อีกทั้งยังพบรายงานจากการแพ้ยา Sulfamethoxazole with Trimethoprim และ Norfloxacin อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบรายงานอาการข้างเคียงจากยา Penicillin คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน
จากการประชุมคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอสองเพื่อค้นหาปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนพบว่าปัญหาที่พบมากที่สุดในพื้นที่คือปัญหาร้านขายของชามีการจำหน่ายยาไม่ถูกต้องตามประเภทที่สามารถจำหน่ายได้ โดยพบมากที่สุดคือกลุ่มยาปฏิชีวนะและวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องคือการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการร้านขายของชำ ดังนั้นจึงเกิดการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก การลดจำนวนร้านขายของชำที่มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะในเขตอำเภอสองขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนร้านขายของชำที่มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะ โครงการนี้ได้ดำเนินงานในร้านขายของชำเขตอำเภอสอง จำนวน 265 แห่ง โดยใช้แนวคิด Precede-Proceed Model เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน หัวข้อการดำเนินงานประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำ ข้อมูลพื้นฐานของร้านขายของชำ สถานการณ์ยาปฏิชีวนะที่จำหน่ายในพื้นที่ บันทึกรายการยาที่พบ ทะเบียนร้านค้าที่ตรวจแนะนำโดยให้ความรู้พร้อมผลการตรวจก่อน-หลัง และจำนวนร้านขายของชำที่มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะที่ลดลงหลังการดำเนินงานตามโครงการ
ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยลดแหล่งกระจายยาปฏิชีวนะในชุมชน และเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การจำหน่ายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำ และใช้วางแผนพัฒนาและปฏิบัติงานด้านพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังการจำหน่ายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำเชิงรุกภาคประชาชน อีกทั้งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการใช้ยาปลอดภัยในชุมชนของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ที่จะช่วยเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ลดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพและผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีความปลอดภัย